วันพฤหัสบดี, 25 กรกฎาคม 2567

ทวิตเตอร์ คือ อะไร ทำไมมียอดผู้ใช้คนไทยใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แตกต่างกับสื่อสังคมออนไลน์อื่นอย่างไร ???

ทวิตเตอร์ คือ อะไร

ภาพถ่ายโดย Solen Feyissa จาก Pexels

สำหรับประเทศไทยแล้ว การใช้งานทวิตเตอร์ก็ยังคงอยู่ในเทรนด์ที่ก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เคยใช้งานทวิตเตอร์ และอาจจะยังสงสัยว่าทวิตเตอร์ คือ อะไร และมีความแตกต่างจากเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ อย่างไร ลองมาหาคำตอบกันได้เลย

ทวิตเตอร์ เป็นบริการสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก ซึ่งผู้ใช้งานสามารถที่จะส่งข้อความในปริมาณจำกัดไม่เกิน 140 ตัวอักษร โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการส่งข้อความบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ มีกิจกรรมอะไรที่น่าสนใจ รวมไปถึงการส่งข่าวสารบางอย่างให้โลกได้รับรู้ ซึ่งทวิตเตอร์จะมีศัพท์เทคนิคที่เรียกว่า “tweets” หรือแปลเป็นไทยว่า ‘เสียงนกร้อง’ นั่นเอง

การเล่นทวิตเตอร์จึงมักจะเป็นการ “ติดตาม” บุคคลอื่นๆที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกับเรา เช่น สนใจในเรื่องของอาหารการกิน การท่องเที่ยว เทคโนโลยี เป็นต้น หรืออาจจะเป็นในรูปแบบของการติดตามบุคคลที่เราชื่นชอบ ดารา นักร้อง หรือบุคคลที่กำลังเป็นกระแส ซึ่งผู้ใช้งานสามารถติดตามข้อมูลผ่านข้อความที่บุคคลเหล่านั้นทวีต โดยสามารถเลือกที่จะติดตาม (Follow) ใครก็ได้ที่นเองกำลังสนใจ

ด้วยข้อความที่จำกัด ทำให้ทวิตเตอร์เป็นการสื่อสารที่ “สรุป” ใจความสำคัญมาแล้ว ไม่เยิ่นเย้อ ไม่เสียเวลาอ่าน และทำให้คุณสามารถที่จะรับรู้ข่าวสารได้อย่างหลากหลายในสิ่งที่คุณสนใจ ติดตามข่าวสารได้ทันท่วงที หรือทราบความเคลื่อนไหวของบุคคลที่คุณสนใจแบบเรียลไทม์ จึงเป็นข้อดีที่ทำให้คุณไม่ตกข่าวดังๆที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ณ ปัจจุบัน

นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้คุณสามารถ “โปรโมท” สินค้า เว็บไซต์ หรือผลงานของตัวเองให้โลกหรือคนที่กำลังสนใจเรื่องราวเดียวกับที่คุณสนใจ ในแบบที่คนอื่นไม่เกิดความรำคาญมากจนเกินไป เพราะทวิตเตอร์ได้คัดกรองและมีระบบที่จะช่วยป้องกันความเป็นส่วนตัวได้ในระดับสูง

ทวิตเตอร์ ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ก่อกำเนิดขึ้นจากสหรัฐอเมริกา และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งทวิตเตอร์ก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆให้ทันสมัยมากขึ้น และสอดรับกับความต้องการของผู้ใช้งานอยู่เสมอ เพราะโลกของเราหมุนไปอย่างรวดเร็ว  และไม่สามารถที่จะหยุดพัฒนาได้เลย