วันพฤหัสบดี, 25 กรกฎาคม 2567

8 วิธีเอาตัวรอด จากเหตุการณ์เบียดกันตาย (crowd crush)

จากเหตุการณ์อันน่าสลดใจที่เกิดขึ้นในย่านอิแทวอน ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่ผู้คนเบียดเสียดกันในงานฮาโลวีนที่ผ่านมาไม่นานนี้ จนเกิดเป็นสาเหตุให้มีผู้คนเสียชีวิตมากมาย ซึ่งว่านับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้นะคะ ดังนั้นบทความนี้เราจึงขอรวบรวม วิธีเอาตัวรอดจากการเบียดหรือเหยียบกันตาย (crowd crush) มานำเสนอเพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการเอาตัวรอด หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขันดังกล่าวนะคะ ข้อควรปฏิบัติมีดังต่อไปนี้นะคะ

  1. ต้องพยายมองหา และ สอดส่องเส้นทางอยู่เสมอค่ะ
    เป้าหมายที่สำคัญที่สุดเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวก็คือ การออกจากที่เกิดเหตุให้ได้โดยเร็วที่สุด ดังนั้น ต้องใจเย็น ต้องมีสตินะคะ และพยายามมองหาทางไปต่อ ไม่ว่าจะย้อนกลับทางเดิม หรือไปต่อข้างหน้า โดยพยายามคาดเดาให้ได้ว่า จุดศูนย์กลางของการเบียดกัน หรือว่ากันง่ายๆ คือจุดที่คนรวมตัวกันอยู่เยอะที่สุดคือจุดไหน และ (หากเป็นไปได้) ให้เคลื่อนไปทางที่ผู้คนเบาบาง หรืออาจหาทางปีนขึ้นไปอยู่บนขอบกำแพงแทนก็ได้ค่ะ
  1. เมื่อรอบตัวคนเริ่มเบียดกันมากขึ้น ให้ออกห่างจากจุดนั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
    ยิ่งรออยู่จุดเดิมนานๆ ยิ่งยากที่จะเคลื่อนตัวออกมาได้ ดังนั้น อย่าลังเลที่จะออกจากบริเวณที่แออัดทันทีเลยนะคะ เมื่อเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ และในขณะที่ยังมีที่ว่างพอที่จะเคลื่อนไหวออกมาได้ การออกจากฝูงชนจะช่วยลดอันตรายให้กับตัวเราเองและผู้อื่นได้ เพราะพื้นที่จะแออัดน้อยลงสำหรับผู้ที่ยังอยู่ในจุดนั้นๆค่ะ
  2. พยายามยืนทรงตัวให้ตั้งมั่นไว้ 
    หากมันสายเกินกว่าจะหนีออกจากจุดนั้นได้แล้ว ให้พยายามยืนทรงตัวตั้งมั่นรักษาบาลานซ์ให้ดี เพราะในเหตุการณ์เช่นนี้ ผู้คนจะเบียดกันแน่นมากชนิดที่ว่า หากมีคนล้มลง ก็จะกลายเป็นโดมิโน่เอฟเฟกต์ทันที หากเราพลาดล้มลงปุ๊บ น้ำหนักของคนอื่นๆ ก็จะตรึงเราไว้กับที่ ทำให้เราลุกขึ้นไม่ได้ และเสี่ยงต่อการโดนเหยียบจนเสียชีวิตได้ค่ะ
  3. พยายามสูดลมหายใจเข้าให้เต็มที่
    ออกซิเจนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายของเราอย่างที่สุดนะคะ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เหยียบกันตายส่วนมากนั้น เกิดจากการขาดอากาศหายใจค่ะ หลีกเลี่ยงการกรีดร้อง (ยกเว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งเสียง) เพื่อควบคุมการหายใจให้ดีและสม่ำเสมอค่ะ

5.  ใช้แขนตั้งการ์ดกันบริเวณทรวงอก
หากการเบียดกันเริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ให้ยกแขนขึ้นมากันบริเวณทรวงอก (คล้ายๆ กับการตั้งการ์ดของนักมวย) เพื่อป้องกันกระดูกซี่โครง แต่ต้องไม่ตั้งการ์ดชิดกับอกจนเกิดไป ควรเว้นห่างไว้ 2-3 เซนติเมตร เพื่อให้เราสามารถหายใจได้

6. ให้ไหลไปตามฝูงชน อย่าฝืน อย่าเกร็ง
เป็นเรื่องธรรมดาที่หากมีการดันไปอีกทาง ผู้คนมักจะฝืนดันกลับเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ แต่ต้านทานไปก็เสียแรงเปล่านะคะ ดังนั้น จึงควรปล่อยตัวเองให้ไหลไปตามทิศทางที่ฝูงชนเคลื่อน พร้อมกับรักษาบาลานซ์ของร่างกายให้มั่นคงไปด้วย อย่าให้ล้มเด็ดขาดนะคะ

7. พยายามออกห่างจากสิ่งกีดขวาง
เทคนิคก่อนหน้านี้อาจใช้ไม่ได้ผล หากที่ที่เราอยู่นั้นใกล้ชิดกับกำแพง รั้ว หรือวัตถุแข็งอื่นๆ ที่เราปืนขึ้นไปไม่ได้ เพราะผู้เสียชีวิตรายแรกๆ จากการเบียดกันจนตายนั้น โดยมากมาจากการถูกอัดเข้ากับกำแพง ดังนั้น หากเป็นไปได้ให้พยายามอยู่ห่างจากกำแพงมากที่สุดเท่าที่ทำได้ค่ะ

8. ประเมินความหนาแน่นของฝูงชนให้ออก
เทคนิคสำหรับการประเมินนี้ แบ่งออกคร่าวๆ ได้ดังนี้

  • หากไม่มีการสัมผัสทางกายภาพกับคนรอบข้าง ความหนาแน่นน่าจะยังน้อยกว่าสามคนต่อตารางเมตร ดังนั้น ณ ตอนนี้ทุกอย่างก็ปกติดี
  • หากกำลังชนกับคนรอบตัว 1-2 คนโดยไม่ได้ตั้งใจ ความหนาแน่นของฝูงชนจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 คนต่อตารางเมตร ถือว่ายังไม่มีอันตรายในทันที แต่ควรย้ายออกจากศูนย์กลางของความแออัดนั้น
  • หากไม่สามารถขยับมือได้อย่างที่คิด จนถึงขึ้นเริ่มยกมาแตะหน้าตัวเองไม่ได้ แปลว่าผู้คนแออัดกันอยู่มากเกินไป และกำลังจะเกิดอันตรายขึ้นได้
    นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำอื่นๆ เช่น หากเป็นกรณีที่ฝูงชนอยู่ในอาการแพนิก ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายเกินกว่าจะคาดเดาได้นั้น จงพยายามตั้งสติให้ดี และหาทางออกให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้นะคะ

ไม่เพียงเท่านั้น จอห์น ดรูวรี (John Drury) นักจิตวิทยาจาก University of Sussex ยังแนะนำไว้อีกว่า ฝูงคนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีโอกาสจะรอดมากกว่าฝูงชนที่ต่างคนต่างเอาชีวิตรอด ดังนั้น ในขณะที่เราสามารถทำได้ การช่วยเหลือผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง จึงเป็นประโยชน์กับทุกคน แต่ย้ำว่า ต้องให้ตัวเองอยู่ในจุดที่ไม่เสี่ยงอันตรายจนเกินไปด้วยนะคะ

อย่างไรก็ตาม วิธีเอาตัวรอดจากฝูงชนในที่เบียดเสียดที่ดีที่สุด ก็คือการหลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงและแออัดต่างๆค่ะ ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติในทุกๆวันนะคะ
 
 
อ้างอิงจาก
theconversation.com